วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กิจกรรมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์

   เป็นวิชาที่ว่าด้วยการเรียนรู้ที่เน้น การวิเคราะห์ การตั้งคำถาม และกระบวนการคิดที่จะได้มาซึ่งคำตอบ
เป้าหมายการเรียนรู้
           โดยสาระสำคัญของการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มีการจัดการเรียนรู้เพื่อเป็นพื้นฐาน ในการเรียนศาสตร์อื่น ที่มีความยากมากยิ่งขึ้นและ เพื่อสร้างกระบวนการคิดเชิงตัวเลข และเพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการคิด (เชิงตรรกะ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงอนาคต) การให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจ การพิสูจน์ความจริง

กระบวนการเรียนรู้
- นักเรียนแต่ละคนวิเคราะห์โจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น โดยโจทย์ปัญหาหรือสถานการณ์อาจมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือสถานการณ์จำลองก็ได้
- นักเรียนแต่ละคนจะได้แสดงความคิดเห็น อธิบายการวิธีคิด ให้เพื่อนๆ และคุณครูฟัง (Black Broad Share)
- คุณครูและนักเรียน เรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับกระบวนการคิดที่เกิดขึ้น พร้อมแสดงความคิดเห็น และวิเคราะห์เพื่อจัดระบบข้อมูลที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้ เป็นกระบวนการที่สำคัญ เพราะนักเรียนแต่ละคนจะมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน แต่ได้คำตอบเดียวกัน ซึ่งคุณครูจะให้นักเรียนได้วิเคราะห์โจทย์ที่มีระดับความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยโจทย์ที่ให้นั้นจะต้องมีความหลากหลายของกระบวนการหาคำตอบ และท้าทายต่อกระบวนการคิดของนักเรียนเป็นสำคัญ
- การจับสื่อจริงเป็นขั้นตอนกระบวนการหนึ่งที่จัดอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญเนื่องจากจะช่วยให้นักเรียนเกิดภาพในสมองที่เป็นรูปธรรมแล้ว ยังช่วยให้ได้พัฒนาทักษะด้านต่างๆ อาทิเช่น ทักษะการคิดและทักษะนำเสนอ
- นักเรียนแต่ละคนได้ออกแบบโจทย์ใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่ครูผู้สอนสามารถสังเกตได้ว่า นักเรียนแต่ละคนมีความเข้าใจต่อกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างไร เนื่องจากการออกแบบโจทย์ใหม่ จะต้องใช้ทักษะความเข้าใจที่เกิดขึ้นในกระบวนเรียนรู้ที่ผ่านมา มาปรับประยุกต์ใช้
- นำไปใช้จริงในชีวิตประจำวันและเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ เช่น การใช้ในการวิเคราะห์ หรือคำนวณต่างๆในวิชาอื่นๆ

ผลที่ได้รับ : นักเรียนร้อยละ 80 เกิดทักษะที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving), ทักษะการมองเห็นภาพหรือรูปแบบที่ซ่อนอยู่ (Patterning), ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการให้เหตุผล (Creative Thinking and Reasoning) และทักษะการสื่อสาร (Communication) เพื่อให้เกิดความร่วมมือและพบวิธีหรือคำตอบเอง (Meta cognition)
          การสอนจึงให้ความสำคัญที่เข้าใจความคิดรวบยอดก่อน และค้นหาวิธีที่หลากหลายร่วมกัน วิธีการที่ได้จึงเป็นคำตอบที่สำคัญกว่าคำตอบจริงๆ โดยใช้ขั้นของการสอนดังนี้
                     1. ชง หมายถึง ขั้นที่ครูตั้งคำถาม ตั้งโจทย์ หรือโยนปัญหาให้ผู้เรียนได้เผชิญ ผู้เรียนจะได้คิดและการลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหานั้นด้วยตนเอง

                     2. เชื่อม หมายถึง การนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนวิธีแก้โจทย์ปัญหาของแต่ละคน ครูไม่จำเป็นต้องตัดสินว่าวิธีใดถูกหรือผิด เพราะสุดท้ายเมื่อมีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นนักเรียนแต่ละคนจะเห็นมุมมองที่หลากหลาย เห็นช่องโหว่ของบางวิธี ได้ตรวจสอบวิธีแต่ละวิธีและในที่สุดจะรู้คำตอบเอง สามารถเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่ตัวเองเข้าใจไปใช้ได้ นี่เป็นทักษะของการรู้ตัว     รู้ว่าตัวเองรู้หรือไม่รู้(Meta cognition) เป็นทักษะที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองต่อไป ในขั้นนี้ครูแค่ตั้งคำถาม “ใครได้คำตอบแล้ว?” “มีวิธีคิดอย่างไร?”“ใครมีวิธีอื่นบ้าง?” “คุยกับเพื่อนว่าเห็นอะไรที่คล้ายกันหรือแตกต่างกันบ้าง” ครูที่เก่งจะไม่ผลีผลามบอกคำตอบแต่จะเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนพบคำตอบ คำตอบที่เราต้องการจริงคือวิธีการ ในขั้นตอนนี้ ผู้เรียนจะได้พัฒนาทักษะทั้งหมด ทั้งทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving), ทักษะการมองเห็นภาพหรือรูปแบบที่ซ่อนอยู่
 (Look for the Pattern), ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการให้เหตุผล (Creative Thinking and Reasoning) และ ทักษะการสื่อสาร(Communication) เพื่อให้เกิดความร่วมมือและพบวิธีหรือคำตอบเอง (Meta cognition) 
3. ใช้ หมายถึง ขั้นของการให้โจทย์ใหม่ที่คล้ายกัน หรือยากขึ้น หลังจากที่ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาจากขั้นตอนที่ 2 แล้ว เพื่อให้นักเรียนแต่ละคนได้ประลองเอง จะได้สร้างความเข้าใจให้คมชัดขึ้น ครูจะได้ตรวจสอบอีกรอบว่าเด็กแต่ละคนเข้าใจมากน้อยเพียงใด ตลอดกระบวนการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ ก่อให้เกิดทักษะด้านต่างๆไดั    

ทักษะการเรียนรู้ร่วมกัน ทักษะการสื่อสาร ทักษะการวิเคราะห์
          จะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อนักเรียนแต่ละคนได้ร่วมถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้เพื่อนๆหรือผู้อื่นได้ร่วมเรียนรู้โดยรูปแบบการถ่ายทอดมีหลากหลายวิธี เช่น การอธิบายโจทย์ปัญหา การอธิบายกระบวนการวิเคราะห์โจทย์ปัญหา การนำเสนอวิธีคิดของตนเอง (black board share) ที่เข้าใจให้เพื่อนๆได้ร่วมแสดงความคิดเห็น        




        นอกจากนี้การทำงานร่วมกันของนักเรียนทุกคน ตลอดการเรียนรู้ในแขนงวิชาต่างๆ ก่อให้เกิดทักษะการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นสัมพันธภาพอันดีงามที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เป็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี

                    นอกจากกิจกรรม การเรียนรู้ของนักเรียนที่เกิดขึ้นในห้องเรียนแล้ว กลุ่มคุณครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์จะมีการจัดกิจกรรม Reason study การสอน ซึ่งเป็นนวัตกรรมการพัฒนาการเรียนการสอน สำหรับเตรียมให้กับคุณครูผู้สอน ได้พัฒนาตนเอง เพื่อกระบวนการสอนที่มีคุณภาพ และวิธีสอนที่หลากหลาย สร้างความน่าสนใจและสร้างความเข้าใจโดยแท้จริงให้กับนักเรียนทุกคน


.................ทีมครูมัธยม นอกกะลา.................




















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น